เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 1.นฬินิกาชาดก (526)
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[28] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้มาที่นี่
รูปร่างของเธอสวยงาม น่าชม
ไม่สูงเกินไปและไม่เตี้ยเกินไป มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง
ศีรษะของเธอผู้เจริญดำสวยงาม
เพราะปกคลุมด้วยผมอันดำสนิทเป็นเงางาม
[29] ไม่มีหนวด บวชได้ไม่นาน
ก็เธอมีเครื่องประดับเช่นกับเชิงบาตรอยู่ที่คอ
และมีปุ่ม 2 ปุ่มเกิดที่อกอย่างงดงาม
ทั้งคู่มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังผลมะพลับทองคำ
[30] อนึ่ง ใบหน้าของเธอน่าทัศนายิ่งนัก
กรรเจียกจอนก็ห้อยอยู่ที่หูทั้ง 2
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็เปล่งประกายแวววาว
สายรัดชฎาที่ประดับก็โชติช่วงชัชวาล
[31] และเครื่องประดับอย่างอื่นอีก 4 อย่างของมาณพนั้น
มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็แกว่งไกวไปมา
เหมือนหมู่นกติรีฏิ ยามเมื่อฝนตก
[32] ก็เธอมิได้คาดสายรัดเอวที่ทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย
เปลือกปอ และหญ้าปล้อง
สายรัดเอวนั้นปลิวสะบัดเหมือนสายฟ้าในอากาศ
โชติช่วงอยู่ระหว่างสะเอวกับสะโพก
[33] อนึ่ง ผลไม้ทั้งหลายไม่มีใบ ไม่มีขั้ว ติดอยู่ที่สะเอว
ใต้สะดือ ไม่กระทบกันเลย ส่ายได้เป็นนิจ
พ่อ ผลไม้เหล่านั้นเป็นผลของต้นไม้อะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :6 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 1.นฬินิกาชาดก (526)
[34] ก็แหละชฎา1ของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม
จัดรูปทรงแบ่งศีรษะเป็นสองส่วนได้อย่างงดงาม
ขอให้ชฎาของเราเป็นเช่นนั้นเถิด
[35] ก็คราวใดชฎิลนั้นสยายชฎา
ที่ประกอบด้วยสีและกลิ่นเหล่านั้น
คราวนั้นอาศรมนี้ก็หอมอบอวล
เหมือนดอกอุบลเขียวที่ต้องลม
[36] เปือกตมที่เรือนร่างชฎิลนั้นก็น่าดูยิ่งนัก
หาเป็นเช่นกับกายของเราไม่
พอถูกลมโชยพัดก็หอมฟุ้ง
เหมือนป่าไม้มีดอกบานสะพรั่งปลายฤดูร้อน
[37] ชฎิลนั้นตีผลไม้มีรูปอันวิจิตรงดงามน่าดูลงบนพื้นดิน
และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของชฎิลนั้นอีก
พ่อ ผลไม้นั้นเป็นผลของต้นไม้อะไรหนอ
[38] อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
ขาว เรียบเสมอ เปรียบได้กับสังข์ที่ขัดดีแล้ว
เมื่อเธอยิ้ม ย่อมทำใจให้ผ่องใส
ชฎิลนั้นคงไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่
[39] คำพูดของเธอไม่หยาบคาย ไม่คลาดเคลื่อน
นุ่มนวล อ่อนหวาน ซื่อตรง ไม่ทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่คลอนแคลน
เมื่อเปล่งออกมา น้ำเสียงของเธอทำให้ฟูใจ
ไพเราะจับใจ ดุจเสียงนกการเวก
ทำให้ใจของลูกกำหนัดยิ่งนัก

เชิงอรรถ :
1 ชฎาในที่นี้หมายถึงสายผม (เส้นผมหลายเส้นที่ร้อยในลูกปัด) ที่เอาแก้วแซมผูกไว้มีทรงคล้ายชฎา (ขุ.ชา.อ.
8/34/19)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :7 }